Rowntree, Benjamin Seebohm (1871-1954)

นายเบนจามิน ซีโบห์ม ราวน์ทรี (พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๙๗)

 เบนจามิน ซีโบห์ม ราวน์ทรี เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนักปฏิรูปสังคม และผู้บุกเบิกการสืบค้นข้อมูลด้านสังคมวิทยาชาวอังกฤษ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๓-๑๙๔๑ เป็นผู้อำนวยการและประธานบริษัทราวน์ทรีส์ (Rowntree’s) แห่งเมืองยอร์ก (York) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตโกโก้ ช็อกโกแลต ลูกอม และลูกกวาดรายใหญ่ของประเทศ แต่เขาก็มีความเห็นใจและสนใจในความเป็นอยู่และการดำรงชีพของผู้ใช้แรงงานอย่างจริงจังและค้นคว้าเกี่ยวกับสาเหตุของความยากจนของชนชั้นล่างในสังคมอังกฤษ เขาได้ข้อสรุปและประมวลเป็นข้อเสนอให้รัฐบาลพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* นำไปปฏิรูปสังคมและออกกฎหมายด้านการประกันสังคมในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานของการจัดระบบรัฐสวัสดิการอังกฤษต่อไป

 ราวน์ทรีเกิดที่เมืองยอร์ก มณฑลยอร์กเชียร์ (Yorkshire) เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ เขาเป็นบุตรคนที่ ๓ ของโจเซฟ ราวน์ทรี (Joseph Rowntree) และเอมมา ซีโบห์ม (Emma Seebohm) บิดาของเขาดำเนินธุรกิจกับพี่ชายคือ เฮนรี ไอแซก ราวน์ทรี (Henry Isaac Rowntree) ซึ่งซื้อกิจการผลิตช็อกโกแลตของตระกูลทุก (Tuke) มาครอบครองใน ค.ศ. ๑๘๖๒ และตั้งเป็นบริษัทเอช. ไอ. ราวน์ทรี (H. I. Rowntree and Company) ที่เมืองยอร์ก บิดาซึ่งนิยมทำการกุศลนับถือนิกายเควกเกอร์ (Quaker; the Religious Society of Friends) ได้ส่งเขาเข้าเรียนที่เฟรนดส์สกูล (Friends’ School) ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำของนิกายนี้ในเมืองยอร์ก ต่อมาได้เข้าเรียนที่โอเวนส์คอลเลจ (Owens College) นครแมนเชสเตอร์ (Manchester) ซึ่งปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เป็นเวลา ๕ ภาคการศึกษา ในเวลานั้นผู้ที่นับถือนิกายเควกเกอร์ไม่อาจเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเก่าแก่อย่างเคมบริดจ์ (Cambridge) หรือ ออกซฟอร์ด (Oxford) ได้ ราวน์ทรีเรียนเน้นไปทางวิชาเคมีเมื่อกลับไปที่บ้านเกิดใน ค.ศ. ๑๘๘๙ ขณะอายุ ๑๘ ปี เขาก็เริ่มทำงานในโรงงานช็อกโกแลตของบิดาโดยใช้ความรู้ด้านเคมีในการทำวิจัยและการทดลองในห้องปฏิบัติการในวันอาทิตย์เขาอาสาไปสอนหนังสือที่โรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ในเมืองยอร์กซึ่งได้ทำติดต่อกันถึง ๒๐ ปี การได้คลุกคลีกับผู้ใช้แรงงานที่โรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่และไปเยี่ยมเอียนที่อยู่อาศัยของลูกศิษย์ ทำให้เขาได้รับรู้สภาพชีวิตที่แท้จริงของคนยากจนด้วยตนเองและทำให้เขาตัดสินใจที่จะค้นหารากเหง้าของปัญหาความยากจนของผู้ใช้แรงงาน

 ใน ค.ศ. ๑๘๙๗ ราวน์ทรีสมรสกับลีเดีย พอตเตอร์ (Lydia Potter) แห่งมิดเดิลส์โบร (Middlesbrough) ซึ่งต่อมามีบุตรด้วยกัน ๕ คน ในปีเดียวกันนั้น เขาเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัทซึ่งลุงกับบิดาสร้างขึ้นจากธุรกิจเล็ก ๆ จนประสบความสำเร็จ การอยู่ในตำแหน่งนี้ทำให้เขาสามารถดำเนินการหาสาเหตุและสำรวจภาวะยากจนในเมืองยอร์กเป็นครั้งแรก ความสนใจในปัญหาความยากจนนั้นมีแรงบันดาลใจจากบิดา การเติบโตในนิกายเควกเกอร์ และผลงานของชาลส์ บูท (Charles Booth) ซึ่งเก็บข้อมูลจากการสำรวจชีวิตของผู้คนในเขตอีสต์เอนด์ (East End) ของกรุงลอนดอนซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของผู้ใช้แรงงานใน ค.ศ. ๑๘๘๗ เรื่อง Life and Labour of the People in London ที่เผยแพร่ ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ บูทระบุว่า ร้อยละ ๓๑ ของครัวเรือนที่สำรวจจัดว่าอยู่ในภาวะยากจน และร้อยละ ๑๐ อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการอดตายและมักจะหันไปหาการก่ออาชญากรรมราวน์ทรีจึงสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของคนยากจนในเมืองยอร์ก อย่างละเอียด โดยส่งคนออกไปเยี่ยมเยียนบ้านผู้ใช้แรงงาน ๑๑,๕๖๐ ครอบครัวรวมเป็นประชากรทั้งสิ้น ๔๖,๗๕๔ คน

 หลังจากเก็บข้อมูลเป็นเวลา ๒ ปี เขาก็ตีพิมพ์ ผลงานการสำรวจใน ค.ศ. ๑๙๐๑ เป็นหนังสือชื่อ Poverty, A Study of Town Life ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดที่ทำให้เขาเป็นที่จดจำและจัดว่าเป็นผลงานคลาสสิกด้านสังคมวิทยาแบบปฏิฐานนิยม ในงานชิ้นนี้ ราวน์ทรีได้กำหนดเส้นความยากจน (poverty line) จากรายรับต่อเดือนที่ตํ่าที่สุดที่แต่ละครอบครัวพึงมีเพื่อการดำรงชีพอย่างมีพลานามัย ซึ่งจำนวนเงินที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ครอบคลุมค่าเชื้อเพลิง แสงสว่าง ค่าเช่าที่พัก อาหาร เสื้อผ้า ของใช้สำหรับครัวเรือนและของส่วนตัว และก็แตกต่างไปตามขนาดของครอบครัว ราวน์ทรีกำหนดเส้นความยากจนด้วยระบบคิดแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่เคยมีผู้ศึกษาเกี่ยวกับ ความยากจนด้วยวิธีการนี้มาก่อน ตัวอย่างเช่น เขาปรึกษานักโภชนาการเพื่อให้รู้จำนวนแคลอรีตํ่าสุดที่ร่างกายพึงได้รับและความสมดุลของคุณค่าอาหารที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้คนล้มเจ็บหรือสูญเสียน้ำหนัก จากนั้นเขาก็สำรวจราคาอาหารในเมืองยอร์กเพื่อให้รู้ค่าใช้จ่ายตํ่าสุดที่จำเป็นสำหรับการซื้ออาหารที่เพียงพอแก่การบริโภค แล้วจึงเอาข้อมูลทั้งหมดมากำหนดเส้นความยากจน เขาพบว่า ชาวเมืองยอร์ก ร้อยละ ๒๗.๘๔ ดำรงชีวิตอยู่ใต้เส้นนี้ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของบูทที่สำรวจชีวิตคนจนในกรุงลอนดอนผลการวิจัยของราวน์ทรีท้าทายทัศนะดั้งเดิมที่เชื่อกันว่าปัญหาความยากจนที่ร้ายแรงเป็นปัญหาเฉพาะของกรุงลอนดอนไม่ได้แผ่ขยายไปยังส่วนอื่นของประเทศ เพราะผลงานของบูทและราวน์ทรีทำให้เห็นสภาพความยากจนในเขตเมืองหลวงและในเขตที่ไม่ใช่เขตอุตสาหกรรมอย่างเมืองยอร์ก และพบว่าการตกอยู่ในสถานะยากจนนั้นขึ้นกับสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อม หาใช่ความผิดของปัจเจกชนไม่ ความยากจนมักเกิดจากการได้รับค่าแรงที่ไม่เพียงพอจึงลบล้างความเชื่อดั้งเดิมที่ปลูกฝังกันมาว่าความยากจนเป็นเรื่องของชะตากรรมของคนหรือของครอบครัวนั้น ๆ หรือเพราะพระเป็นเจ้าไม่โปรดชาวอังกฤษควรตระหนักได้แล้วว่าระบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (Laissez Faire) ที่ยึดถือมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นั้น ไม่เหมาะสมผู้ใช้แรงงานเองก็ควรมีทัศนะใหม่ต่อการจะปฏิรูปสังคมของรัฐ

 ในการศึกษาครั้งแรกนี้ ราวน์ทรียังแบ่งกลุ่มประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มยากจนปฐมภูมิ (primary poverty) ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะจัดหาสิ่งที่จำเป็นในการครองชีพ และกลุ่มยากจนทุติยภูมิ (secondary poverty) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเงินเพียงพอซื้อหาของที่จำเป็นได้ครบแต่ได้นำเงินไปใช้ทางอื่น ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเรื่องสูญเปล่าหรือเป็นประโยชน์ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเล่นพนันการทำบุญทำให้ไม่มีเงินซื้อหาของที่จำเป็นได้ นอกจากนี้ เขาพบว่าการเผชิญกับปัญหาความยากจนนั้นมักเกิดขึ้นบางช่วงเวลาของชีวิต เป็นวัฏจักรแห่งความยากจน โดยเฉพาะช่วงที่คนอยู่ในวัยเด็กหรือวัยสูงอายุจะดำรงชีพใต้เส้นความยากจนมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ เช่น คู่สมรสมักจะกินอยู่ดีในระยะแรกแต่จะประสบความยากลำบากขึ้นเมื่อมีบุตรและฐานะจะกลับมากระเตื้องขึ้นเมื่อลูกหาเงินเลี้ยงตนเองได้ แต่หลังจากนั้นจะประสบความยากลำบากอีกครั้ง เมื่อทำงานไม่ไหวเพราะชราภาพ งานของราวน์ทรีซึ่งให้ข้อมูลทางสถิติอย่างละเอียดเกี่ยวกับค่าแรง ชั่วโมงทำงาน การเปรียบเทียบอาหารที่บริโภคกับโภชนาการที่จำเป็นสุขภาพและที่อยู่อาศัยของผู้ใช้แรงงานนั้น ชี้ให้เห็นจุดบกพร่องของระบบทุนนิยมรัฐสมควรจัดหามาตรการใหม่ ๆ มาแก้ปัญหาเมื่อผู้ใช้แรงงานเกิดการว่างงาน เข้าสู่วัยชราหรือสุขภาพทรุดโทรม

 ในการทำงานให้กับบริษัทของครอบครัวนั้น ราวน์ทรีสามารถทำให้กิจการขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ เขาเชื่อว่าหากคนงานมีสุขภาพแข็งแรงและมีอาหารการกินพอเพียงก็จะเป็นคนงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ค่าแรงที่พอเพียงจึงเป็นปัจจัยหลักของการทำงาน เขาจึงร่วมแรงกับบิดาปฏิรูปบริษัทเป็นการใหญ่แม้จะเป็นทีละขั้นตอนโดยนำแนวคิดใหม่เกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์ สวัสดิการ และการจัดการอุตสาหกรรมเข้ามาใช้ นอกจากนี้ ความเชื่อทางศาสนาของเขาก็มีผลต่อการบริหารบริษัทของราวน์ทรีเขาเชื่อว่าบริษัทที่กดค่าแรงตํ่านั้นกระทำการเลวร้ายต่อทั้งเศรษฐกิจของประเทศและต่อมนุษยชาติ เขาและบิดาบริหารคนงานจำนวน ๔,๐๐๐ คน ให้ได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นนอกจากการเพิ่มค่าแรงแล้ว ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ เขากำหนดการทำงานเพียง ๕ วันต่อสัปดาห์ วันละ ๘ ชั่วโมง เพราะเชื่อว่าหากทำงานน้อยลง คนงานจะไม่เหนื่อย ผลผลิตก็จะมีคุณภาพดีขึ้นในปีเดียวกันนี้ ราวน์ทรีจ้างทันตแพทย์มาให้ คำแนะนำปัญหาฟันฟรีแก่คนงานและต่อมาไม่นานก็มีการตั้งแผนกทันตกรรมโดยมีทันตแพทย์อยู่ประจำ ใน ค.ศ.๑๙๐๖ จัดให้มีแผนบำนาญ ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ จัดตั้งสภาแรงงาน (Works Council) และหลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารสถาบันจิตวิทยาอุตสาหกรรมแห่งชาติใน ค.ศ. ๑๙๒๑ และขึ้นเป็นประธานกรรมการระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๔๗ ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ราวน์ทรีมีโครงการจัดตั้งแผนกจิตวิทยาอุตสาหกรรมในโรงงานของเขา นับเป็นการบุกเบิกการทดสอบทางจิตวิทยาในการจ้างแรงงานในวงการอุตสาหกรรมอังกฤษราวน์ทรีจ้างวิกเตอร์ มัวร์รีส (Victor Moorrees) นักจิตวิทยามาสร้างแบบทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าคนงานที่บริษัทจะว่าจ้างมีความสามารถบรรจุช็อกโกแลตลงในกล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขายังจัดระบบแบ่งปันกำไรให้แก่ลูกจ้างด้วยใน ค.ศ. ๑๙๒๓ นอกเหนือจากการบริหารจัดการใหม่เรื่องต่าง ๆ เช่น การรับประทานอาหารร่วมกันในหมู่ผู้ทำงาน การจัดตั้งห้องสมุด สระว่ายนั้า และโรงมหรสพ

 ราวน์ทรีซึ่งสนับสนุนพรรคเสรีนิยมประสงค์ให้พรรคเสรีนิยมนำข้อเสนอของเขาเป็นนโยบายด้านสังคมของพรรคซึ่งก็ประสบความสำเร็จเพราะเขาได้มีโอกาสพบเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ และได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกันเมื่อลอยด์ จอร์จได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปีต่อมา ก็ได้ผลักดันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายปฏิรูปหลายประการตามที่ราวน์ทรีเสนอ เช่น พระราชบัญญัติเบี้ยบำนาญคนชรา (Old Age Pensions Act) ค.ศ. ๑๙๐๘ และพระราชบัญญัติการประกันแห่งชาติ (National Insurance Act) ค.ศ. ๑๙๑๑ ใน ค.ศ. ๑๙๑๓ ลอยด์ จอร์จสนับสนุนให้ราวน์ทรีเขียนงานเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในชนบทของอังกฤษในชื่อ The Land ซึ่งเขาเสนอว่าหากมีผู้ถือครองที่ดินแปลงเล็ก ๆ เพิ่มขึ้น การเกษตรก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และศึกษาเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวชาวไร่ชาวนา ๕๒ ครอบครัวอย่างละเอียดใน How the Labourer Lives แต่ไม่ทันที่ราวน์ทรีจะเรียกร้องรัฐบาลให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้เกิดขึ้น ราวน์ทรีเองแม้จะเป็นพวกใฝ่สันติไม่นิยมการสงครามก็ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกรมสวัสดิการ (Director of Welfare) ในกระทรวงยุทธภัณฑ์ (Ministry of Munitions) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๕-๑๙๑๘ และ ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ได้รับแต่งตั้งให้เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการ เพื่อการฟื้นฟูประเทศ (Reconstruction Committee) ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งกระทรวงการฟื้นฟูขึ้น ราวน์ทรีสนับสนุนให้รัฐช่วยค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและจัดหาที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพให้แก่ชนชั้นล่าง เขาถือว่า ๒ ประการนี้สำคัญต่อการลดความยากจนและจะช่วยยกระดับความภูมิใจในการดำรงชีพของครอบครัวผู้ใช้แรงงานใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ราวน์ทรีจึงเสนอผลงานเรื่อง The Human Needs of Labour ที่เสนอให้รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าแรงขั้นตํ่าของประชาชน และใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ได้ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง The Human Factor in Business ซึ่งเสนอว่าเจ้าของธุรกิจควรใช้วิถีทางประชาธิปไตยแบบที่เขาบริหารโรงงานของเขามากกว่าการใช้อำนาจ แต่มีบริษัทไม่กี่แห่งที่จัดตั้งสภาแรงงานตามแบบเขา ผลงาน ๒ เล่มหลังนี้เป็นการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการของผู้ประกอบการกับของลูกจ้างซึ่งหลายสิบปีต่อมาเขาเรียกร้องให้ผู้บริหารโรงงานรุ่นใหม่ที่เข้าทำงานกับบริษัทต่าง ๆ อ่านงานเขียนของเขาใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งระบุถึงแนวปฏิบัติที่ดีในด้านค่าแรง จำนวนชั่วโมงทำงาน สภาพการทำงาน สวัสดิการและสถานะของลูกจ้าง

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ราวน์ทรียังคงช่วยสมาชิกพรรคเสรีนิยมกลุ่มลอยด์ จอร์จในการหาเสียงกลับมาบริหารประเทศ เขาเข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการพิเศษซึ่งประกอบด้วยบุคคลอย่างเซอร์เฮอร์เบิร์ต แซมวล (Herbert Samuel) ประธานองค์กรพรรคเสรีนิยม เซอร์จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง และ ลอยด์ จอร์จ ทั้งหมดร่วมกันออกสมุดปกเหลืองชื่อ Britain’s Industrial Future ที่ระบุนโยบายเพิ่มพูนการผลิตและลดปัญหาการว่างงาน เนื้อความในสมุดปกเหลืองนี่ยังนำไปตีพิมพ์เป็นจุลสารชื่อ We Can Conquer Unemployment ที่ออกจำหน่ายอย่างกว้างขวางในราคา ๖ เพนนีในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ อย่างไรก็ดี ราวน์ทรีกลับไปบริหารธุรกิจของครอบครัวด้วยอีกครั้ง จนกระทั้ง ค.ศ. ๑๙๓๖ จึงค่อย ๆ วางมือและดำเนินการสำรวจเก็บข้อมูลของเมืองยอร์กครั้งที่ ๒ โดยใช้วิธีการศึกษาคล้ายคลึงกับครั้งก่อน และจัดพิมพ์ออกเป็นเล่มในชื่อ Poverty and Progress ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ในคราวนี้เขาพบว่า นับตั้งแต่การสำรวจครั้งแรกความยากจนระดับสมบูรณ์ในหมู่ผู้ใช้แรงงานของเมืองยอร์กลดลงกว่าร้อยละ ๕๐ แต่เขาเปลี่ยนนิยามของเส้นความยากจนและเพิ่มประเภทสิ่งของที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ เบียร์ วิทยุ ยาสูบ วันหยุด และของขวัญเข้าไปด้วย ผลของการศึกษาแสดงว่าสาเหตุของความยากจนได้เปลี่ยนไปแล้ว กล่าวคือในทศวรรษ ๑๘๙๐ สาเหตุหลักของความยากจนระดับปฐมภูมิ มาจากค่าแรงตํ่าซึ่งมีจำนวนผู้ใช้แรงงานร้อยละ ๕๒ ยากจนด้วยสาเหตุนี้ แต่ในทศวรรษ ๑๙๓๐ พบว่า ประชากรร้อยละ ๔๔.๕๓ ยากจนเพราะไม่มีงานทำ อีกร้อยละ ๑๐ มาจากค่าแรงตํ่าแต่ไม่ทันที่เขาจะโน้มน้าวให้รัฐบาลแก้ปัญหาความยากจนครั้งใหม่ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เกิดขึ้นซึ่งทำให้ปัญหาการว่างงานหายไปชั่วพริบตา ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นนั้น ราวน์ทรีได้มีโอกาสทำงานกับวิลเลียม เบเวอริดจ์ (William Beveridge)* ที่ถือกันว่าเป็นสถาปนิกที่ยกร่างระบบรัฐสวัสดิการของอังกฤษหลังสงคราม ทั้งสองช่วยกันเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งราวน์ทรีก็ได้ทดลองทำแผนการอุดหนุนแบบที่ให้คนงานบริษัทของเขามีส่วนร่วมออกค่าใช้จ่ายด้วยตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๐

 เมื่อสงครามสิ้นสุด พรรคแรงงาน (Labour Party)* ได้นำแนวคิดจากข้อมูลในหนังสือ Poverty and Progress ของราวน์ทรีมากำหนดนโยบายสังคมของพรรค ซึ่งชนะการเลือกตั้งและได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาล เมื่อราวน์ทรีเผยแพร่ผลการวิจัยเรื่องความยากจนในเมืองยอร์กครั้งที่ ๓ ใน ค.ศ. ๑๙๕๑ เรื่อง Poverty and the Welfare state ซึ่งเขาเสนอร่วมกับนาวาโท จี. อาร์. เลเวอรส์ (G. R. Lavers) ผู้ช่วยวิจัยพรรคแรงงานก็นำเนื้อหามาประกอบในแถลงการณ์ของพรรคในช่วงการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๕๑ เกี่ยวกับการจะยุติความยากจนผลงานชิ้นหลังนี้ต่างกับการศึกษาครั้งก่อน ๆ เพราะใช้เทคนิคสุ่มตัวอย่างมากกว่าการสำรวจแบบครอบคลุมกลุ่มประชากรที่ศึกษาทั้งหมด ราวน์ทรีกล่าวว่ามาตรการของพรรคแรงงานที่บริหารประเทศภายหลังสงครามระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๕๑ ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนประเภทเลวร้ายสุด ๆ ที่เขาเคยบันทึกไว้ในการศึกษาก่อนหน้านั้นในทศวรรษ ๑๙๕๐ ดูเหมือนว่าความยากจนอย่างที่สุดได้เบาบางลงแล้ว แม้คงมีลักษณะกระจุกตัวอยู่ในคนบางกลุ่ม เช่น คนชรา เชื่อกันว่าการเอาชนะความยากจนได้นั้นเป็นเพราะทศวรรษ ๑๙๕๐ เป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองมั่งคั่งขึ้น รัฐบาลมีนโยบายให้คนมีงานทำทั่วถึง และการให้สวัสดิการของรัฐเพิ่มขึ้น ราวน์ทรีระบุว่าใน ค.ศ. ๑๙๓๖ คนจนในเขตเมืองยอร์กซึ่งมีอยู่ร้อยละ ๑๘ ได้ลดลงเหลือร้อยละ ๑.๕๐ ใน ค.ศ. ๑๙๕๐

 อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๕๐ นักวิชาการแสดงความกังขาเรื่องชัยชนะต่อความยากจนที่ราวน์ทรีกล่าวอ้างเขาถูกวิจารณ์เรื่องการกำหนดตัวชี้วัดความยากจนรวมทั้งปริมาณของโภชนาการที่พอเพียง ซึ่งราวน์ทรีนำข้อมูลจากนักโภชนาการมายกร่างแผนโภชนาการที่ระบุจำนวนเงินขั้นตํ่าที่ต้องใช้ในการจัดหาอาหาร เขาถูกวิจารณ์ว่าการเลือกซื้ออาหารขึ้นกับระดับชั้นของคนในสังคมและท้องถิ่นที่ประชาชนอาศัยอยู่เป็นหลัก แผนโภชนาการของราวน์ทรีจึงไม่น่าเชื่อถือความยากจนที่ราวน์ทรีระบุและให้คำจำกัดความแท้ที่จริงนั้น จึงไม่ใช่ความยากจนไปทั้งหมดแต่เป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ คำว่า “คนถังแตก” (broken) “คนอดอยาก” (destitute) หรือ “คนไร้อภิสิทธิ์” (underprivileged) ก็เกี่ยวกับการขาดแคลนเงินทองทั้งสิ้นแต่จะเหมารวมว่าล้วนแต่ดำรงชีพอย่างยากจนไม่ได้ ยังมีคนสูงอายุจำนวนมากที่ดำรงชีพอย่างกระเบียดกระเสียรจากเงินที่รัฐช่วย นักเขียนคนหนึ่งได้รื้อฟื้นการใช้คำ “the two nations” เพื่อหมายถึง คนอังกฤษกลุ่มหนึ่งมีเงินบำนาญพอเพียงจากการหาหลักประกันตนเองหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจ ส่วนอีกกลุ่มปราศจากสิ่งเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง การที่ผลสำรวจเมืองยอร์กครั้งที่ ๓ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และข้อสรุปที่ว่าความยากจนได้ถูกกำจัดสิ้นลงไปแล้วถูกตั้งคำถามก็มีผลให้แผนงานออกสำรวจเมืองยอร์กครั้งที่ ๔ ของราวน์ทรีเลื่อนออกไปจนไม่เกิดขึ้นอย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๕๓ เขายังได้เป็นประธานองค์กรการกุศลชื่อ War on Want ที่มีจุดประสงค์จะขจัดความยากจนในต่างแดน แต่ในปีต่อมา เบนจามิน ซีโบห์ม ราวน์ทรี ซึ่งเป็นประธานบริษัทราวน์ทรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๓-๑๙๔๑ ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ขณะอายุ ๘๓ ปี ที่คฤหาสน์ฮิวเฮนเดน (Hughenden Manor) ซึ่งเป็นอดีตที่พำนักของเบนจามิน ดิสเรลี (Benjamin Disraeli)* อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ในไฮรีคอมบ์ (High Wycombe) มณฑลบักกิงแฮมเชียร์ (Buckinghamshire)

 ส่วนบริษัทราวน์ทรีส์แห่งเมืองยอร์กที่ออกผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต ลูกอม และลูกกวาดที่รู้จักแพร่หลายยี่ห้อ Kit Kat, Polo Mint, Aèro, และ Quality street นั้น ใน ค.ศ. ๑๙๖๙ ได้รวมเข้ากับบริษัทจอห์น แมกคินทอช (John Mackintosh & Co.) และใช้ชื่อว่า ราวน์ทรี แมกคินทอชบริษัทราวน์ทรีรับผิดชอบในการผลิต Kit Kat, Smarties, Aéro, Fruit Pastilles และ Black Magic ส่วนบริษัทจอห์นแมกคินทอชผลิต Polo, Munchies, Caramac และ Quality street จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๘๘ บริษัทเนสท์เล่ (Nestlé) ได้เข้าซื้อกิจการที่ราคา ๔,๕๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเข้าบริหารตั้งแต่นั้น.



คำตั้ง
Rowntree, Benjamin Seebohm
คำเทียบ
นายเบนจามิน ซีโบห์ม ราวน์ทรี
คำสำคัญ
- ซีโบห์ม, เอมมา
- แซมวล, เซอร์เฮอร์เบิร์ต
- ดิสเรลี, เบนจามิน
- นิกายเควกเกอร์
- เบเวอริดจ์, วิลเลียม
- พรรคแรงงาน
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- พระราชบัญญัติการประกันแห่งชาติ
- พระราชบัญญัติเบี้ยบำนาญคนชรา
- พอตเตอร์, ลีเดีย
- มัวร์รีส, วิกเตอร์
- ระบบรัฐสวัสดิการ
- ราวน์ทรี, เบนจามิน ซีโบห์ม
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1871-1954
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๙๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-